วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

รูปหนังตะลุง


รูปหนังตะลุงเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่มีเอกลักษณ์พิเศษของคนไทย สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ในศิลปการแสดงหนังตะลุงในภาคใต้ ที่อาศัยรูปเงาในการสื่อสารสร้างสาระและความบันเทิงให้คนดูที่อยู่หน้าจอได้รับความรู้และความเพลิดเพลินตลอดคืน วัสดุที่ทำมาใช้ทำรูปส่วนมากคือหนังวัว ปัจจุบันรูปหนังตะลุงเหล่านี้มิเพียงแต่ใช้ในการแสดงอย่างเดียว แต่ยังกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวมาเยือนจังหวัดนครศรีธรรมราช 

รูปหนังตะลุงแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1.             รูปก่อนเรื่อง เป็นรูปเหมือนจริง คือรูปฤาษี รูปพระอิศวรทรงโค รูปปรายหน้าบท (รูปมนุษย์ผู้ชายแทนตัวนายหนัง) และรูปบอกเรื่องซึ่งจะเป็นตัวตลกตัวใดตัวหนึ่ง
2.             รูปมนุษย์ (รูปนุด) เป็นรูปพระ รูปนาง รูปเจ้าเมือง รูปมเหสี พระโอรส ธิดานิยมแกะให้เหมือนตัวจริงที่สุด แล้วลงสีสันอย่างสวยงาม เพื่อดึงดูดใจผู้ชมหน้าจอ
3.             รูปยักษ์เป็นตัวแทนฝ่ายอธรรม การแต่งกายของยักษ์มักเหมือนกันทุกคณะ คือ มีอาวุธ หรือ กระบองประจำตัว รูปเหล่านี้มีอยู่ทุกแผง
4.             รูปกาก เป็นรูปตัวตลก รูปทาสาและทาสีซึ่งไม่มียศศักดิ์สำคัญ แต่รูปกาบางตัวถือว่าเป็นตัวสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้หนังตะลุง บางครั้งจัดให้เป็นรูปสีดำ หรือสีดั้งเดิมของหนังที่นำมาแกะสลัก และไม่ค่อยมีลวดลาย
5.             รูปเบ็ดเตล็ด ได้แก่ รูปผี รูปต้นไม้ ภูเขา ยานพาหนะ เป็นต้น บางคณะอาจจะพลิกแพลงออกไปตามสมัยนิยมได้ เช่น รูปรถถัง รูปเครื่องบิน เป็นต้น

รูปหนังตะลุงส่วนใหญ่แกะตายตัว อวัยวะต่างๆ เคลื่อนไหวไม่ได้ ยกเว้นมือด้านหน้ายกเว้นตัวตลก กล่าวคือ รูปตัวตลกเคลื่อนไหวได้ทั้งสองมือ และเท้าอาจเคลื่อนไหวด้วยก็ได้